สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

Recommend Print

การจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน เกรียงศักดิ์ คงไทย ครูดีเด่นประเทศไทยด้านสะเต็ม ปี 2557

19122557 1

ครูเกรียงศักดิ์ คงไทย ครูโรงเรียนขาณุวิทยา จังหวัดกำแพงเพชร ได้รับรางวัลครูดีเด่นประเทศไทยด้านสะเต็ม (Thailand STEM Teacher Awards) จากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ประเภทเทคโนโลยี ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยคุณครูท่านนี้มีความโดดเด่นในการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนสร้างนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ได้ด้วยฝีมือตนเอง ซึ่งผลงานของนักเรียนกวาดรางวัลมาแล้วจากหลายเวที

          “การจัดการเรียนการสอนมาจากความเชื่อว่าทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาได้ นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ดีถ้าได้เรียนในสิ่งที่ตนเองสนใจ ถ้าได้ลงมือปฏิบัติงานด้วยตนเอง ดังสำนวนไทยที่ว่าสิบปากว่าไม่ทันตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ จากความเชื่อเหล่านี้ จึงนำไปสู่แนวความคิดที่ว่า สอนให้น้อย และให้นักเรียนมีโอกาสในการเรียนรู้ด้วยตนเองให้มาก” ครูเกรียงศักด์กล่าว

          กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ใช้อยู่ ประกอบด้วยขั้นตอนดังต่อไปนี้ เริ่มจากศึกษาเนื้อหา มาตรฐาน และตัวชี้วัดของหลักสูตร สร้างกรอบการเรียนรู้ตามเนื้อหา มาตรฐาน และตัวชี้วัดของหลักสูตรที่ได้ศึกษามา เชิญครูท่านอื่น ๆ ในโรงเรียนมาเป็นที่ปรึกษาของโครงงาน ตามความถนัดและความสนใจของครูท่านนั้น ๆ

          จากนั้น นำเสนอกรอบการเรียนรู้และรายชื่อครูที่ปรึกษาโครงงานแก่นักเรียน ให้นักเรียนเลือกหัวข้อที่ตนเองสนใจ และเลือกครูที่ปรึกษาให้เหมาะสมกับงานที่ตนสนใจที่จะทำ นักเรียนศึกษากระบวนการทำงาน รายละเอียดในขั้นตอนต่างๆ ในการทำงาน จากเอกสารประกอบการสอนจำนวน 9 เล่ม นักเรียนวางแผนการทำงาน และนำเสนอแผนการทำงานนั้นแก่อาจารย์ประจำวิชา และครูที่ปรึกษาโครงงาน

         หลังจากอาจารย์ประจำวิชา และครูที่ปรึกษาโครงงานได้พิจารณาแผนโครงงาน นักเรียนเริ่มรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงงานของตนแล้ว นักเรียนจะเริ่มเขียนบทนำ และโครงร่างของโครงงาน นักเรียนออกแบบผลิตภัณฑ์ และลงมือประดิษฐ์ตามแบบที่ตนได้ออกแบบไว้ จากนั้นทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ด้วยตนเอง ตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์อีกครั้งโดยให้ผู้อื่นทั้งจากภายในและภายนอกโรงเรียนช่วยตรวจสอบ สรุปข้อดีและข้อเสียของผลิตภัณฑ์ หลังจากผู้อื่นทดลองใช้ จัดทำเอกสารอ้างอิงและภาคผนวกเพื่อแสดงให้ทราบว่า นักเรียนได้ทำโครงงาน และผลิตสิ่งประดิษฐ์ด้วยตนเอง และท้ายสุดนำเสนอโครงงานแก่เพื่อนร่วมชั้น อาจารย์ท่านอื่นๆ และผู้ที่สนใจ

         ผลจากกระบวนการการเรียนรู้ นักเรียนสามารถสร้างสิ่งประดิษฐ์ได้ตามความสนใจของตนเอง มีโอกาสนำเสนอผลงานและสิ่งประดิษฐ์ของตนเองต่อผู้อื่นทั้งในโรงเรียน ในชุมชน และในระดับประเทศ และนักเรียนได้รับรางวัลจากการประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์ตามกระบวนการเรียนการสอนนี้จากหลายแหล่ง ทั้งในระดับโรงเรียน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับชาติ ผลงานที่เคยได้รับรางวัลมาแล้ว เช่น โครงงานมีดกรีดยางแบบเจ๊ะบง โครงงานถ่านอัดแท่งจากมันสำปะหลัง โครงงานเครื่องผ่าฝรั่งพร้อมขาย โครงงานเครื่องหยอดปุ๋ย โครงงานเครื่องคั้นน้ำมะนาว และโครงงานเครื่องแยกขนาดดอกมะลิ

คุณอยู่ที่: หน้าหลัก บทความประชาสัมพันธ์ ข่าวและกิจกรรม บทความประชาสัมพันธ์ การจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน เกรียงศักดิ์ คงไทย ครูดีเด่นประเทศไทยด้านสะเต็ม ปี 2557