สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

Recommend Print

สานฝันเยาวชน เปิดประตูสู่อาชีพด้านสะเต็มกับทูตสะเต็ม “กัปตันโสภณ พิฆเนศวร" นักบินผู้ใช้วิทยาศาสตร์นำทางในงานอาชีพ

สินีนาฎ ทาบึงกาฬ : รายงาน

ทูตสะเต็มถ่ายภาพร่วมกับคณะผู้บริหารและนักเรียนโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)

 

อาชีพด้านสะเต็ม นั้น ถือว่า เป็นอาชีพที่เป็นแรงผลักดันสำคัญในการสร้างชาติและช่วยพัฒนาสังคม เช่น นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยและพัฒนา แพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ วิศวกร สถาปนิก นักบิน โปรแกรมเมอร์ นักดาราศาสตร์ นักธรณีวิทยา นักนิติเวช นักสำรวจ นักการเงินและบัญชี นักวิเคราะห์การตลาด นักโภชนาการ ช่างเทคนิค ช่างไฟฟ้า เกษตรกร และปราชญ์ชาวบ้าน รวมถึงครู นักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัยในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ

นักบิน นั้นเป็นหนึ่งในอาชีพในฝันของหลายคน วันนี้ “กัปตันโสภณ พิฆเนศวร"   หรือ “นกอู” และกัปตันอู รองผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายควบคุมคุณภาพ, ความปลอดภัย และความมั่นคงองค์กร ของสายการบินนกแอร์ ได้มาหน้าที่เป็น “ทูตสะเต็ม” (STEM Ambassador) เพื่อมาถ่ายทอดความรู้ ให้คำแนะนำ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน สร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักเรียน ในกิจกรรมสะเต็มศึกษา ที่โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ซึ่งเป็นศูนย์สะเต็มศึกษาภาค กรุงเทพมหานคร ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เพื่อให้เด็กๆ ได้เห็นประโยชน์ของการนำความรู้ด้านสะเต็ม ได้แก่ การบูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ไปใช้ในบริบทของชีวิตจริงและการประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ

 

เริ่มแรกก่อนจะมาเป็นนักบินนั้น กัปตันโสภณ นั้นก้าวสู่เส้นทางนักเรียนทุนหัวกะทิ ในโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

“ผมเริ่มเป็นนักเรียนทุน พสวท. ของศูนย์โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) รุ่น 2 ตอนชั้น ม.4 จากนั้น เข้าเรียนต่อปริญญาตรีที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ทางด้านธรณีวิทยา หลังจากนั้นได้เรียนต่อปริญญาโทที่จุฬาฯ ได้ 1 ปี มีเพื่อนมาชวนไปสอบนักบิน เมื่อได้ทุนนักบินจากการบินไทย ก็ได้ไปศึกษาและฝึกฝน เกี่ยวกับการบิน ประมาณ 1 ปี ซึ่งการเรียนธรณีวิทยาได้ประโยชน์มากในการศึกษาแผนที่ ระบบนำทาง ภูมิศาสตร์ ซึ่งเรียนด้วยระบบเดียวกัน รวมถึงเรื่องของเครื่องวัด เช่น การเปลี่ยนทิศทาง มุมก้มมุมเงย ของเครื่องบิน เป็นระบบเดียวกันกับการวางตัวของแนวหิน เรื่องทิศทางแบบเดียวกันเป๊ะ เรียกแบบเดียวกันกับทางธรณีวิทยาโดยแผนที่แบบเดียวกัน แต่การใช้แผนที่ทางการบินมีความหยาบมากกว่าในแง่ของการใช้งานเรื่องพิกัด หรือ กำหนดพิกัด ก็ตัวเรียกแบบเดียวกัน ระบบเดียวกัน จึงอาจทำให้ได้เปรียบบ้าง ผมคิดว่า ความรู้พื้นฐานที่ได้มาจาก พสวท. ต่างหาก ที่ทำให้เราได้เรียนรู้และเข้าใจ เรามีพื้นฐานในการสร้างสมมติฐาน ในการหาคำตอบ มีหลักการในการค้นหาคำตอบด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้หาคำตอบนั้นได้”

กัปตันโสภณ เล่าว่า การบินเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่คนไม่ค่อยมีโอกาสได้รับรู้ ในเมื่อเรามีความเข้าใจในสิ่งนี้ ก็จะสามารถอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ง่ายขึ้น เพราะการบิน เป็นเรื่องของการเข้าใจหลักการทางวิทยาศาสตร์เบื้องต้น เข้าใจความรู้ทางเทคโนโลยี มีหลักการและเหตุผล เรียนรู้เรื่องกฏระเบียบ มีกฏหมาย มีตรรกะ หรือ Logical Reasoning

เมื่อได้ฟังวัตถุประสงค์ของการโครงการสะเต็มศึกษาแล้ว รู้สึกว่าเป็นโครงการที่น่าสนใจและตอบโจทย์ในเรื่องการสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนในการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคิดว่าน่าจะมีส่วนช่วยได้บ้างเพราะเราเรียนวิทยาศาสตร์มา และได้ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อการทำงานมาจนถึงปัจจุบัน ประกอบกับการที่ทำงานอาชีพนักบิน เป็นอาชีพที่คนทั่ว ๆ ไปมักไม่ค่อยรู้จัก ไม่ค่อยได้สัมผัส หรือไม่มีโอกาสทำความเข้าใจหรือได้รับประสบการณ์ตรงในการเรียนรู้และทำความเข้าใจเท่าที่ควร เนื่องจากโอกาสหรือสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้มากนัก

กัปตันโสภณ กล่าวว่า ในความเห็นของผมนั้น การบิน หรือ เครื่องบิน เป็นสิ่งที่จับต้องได้ และเป็นเรื่องที่อธิบายให้เข้าใจได้ เพราะเทคโนโลยีการบินนั้นเป็นวิวัฒนาการที่เกิดจากการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หากเราเข้าใจหลักการพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ เราก็จะสามารถทำความเข้าใจเรื่องยากๆ เกี่ยวกับการบินได้โดยไม่ยากเกินไปนัก ผมเคยทำโครงการพานักเรียน ไปดูงานเครื่องฝึกบินจำลอง (Flight Simulator) และศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน โครงการนั้นทำให้ผมเห็นชัดเจนว่า การให้นักเรียนได้มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์ตรง ได้ถามคำถามและได้รับคำตอบจากผู้ที่มีอาชีพนั้น ๆ โดยตรง เป็นเรื่องที่สร้างแรงกระตุ้นและเพิ่มความสนใจในสิ่งที่ได้รับมากขึ้นหลายเท่าตัว

ส่วนแรงบันดาลใจที่ทำให้รับเป็นทูตสะเต็ม เพราะต้องการตอบแทนสังคม เปิดโอกาสในการเรียนรู้ให้กับเยาวชน รวมทั้งเปิดโลกของการบินให้กับคนทั่ว ๆ ไปได้รู้จักมากขึ้นอีกด้วย การบินนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว การบินไม่ใช่เรื่องเข้าใจยาก แต่เป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ และเข้าใจง่าย ขอเพียงเรามีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีก็เพียงพอแล้ว เมื่อมีความเข้าใจมากขึ้น ทุกคนก็จะขึ้นเครื่องบินได้อย่างมีความสุข เพราะเข้าใจหลักการในการทำงานของเครื่องบิน ขึ้นเครื่องบินทุกครั้งจะมีรอยยิ้ม

“การเป็นทูตสะเต็มอาจเสียเวลา แต่จะมีความสุข เมื่อได้เห็นแววตาที่สดใสของเด็กที่เขาได้รับรู้และเข้าใจวิธีการทำงาน ในการทำอาชีพหรือสาขาต่าง ๆ เหล่านั้น ซึ่งหนึ่งในนั้นอาจเป็นอาชีพในฝันของเขา นกแอร์ ใส่ใจและให้ความสำคัญในแง่ของการตอบแทนสังคมอยู่แล้ว ดังนั้น ในเรื่องของการที่เราได้ให้โอกาสในการเรียนรู้ให้กับเยาวชนเป็นสิ่งที่สายการบินนกแอร์สนับสนุนเต็มที่ เพื่อให้โลกของการบินเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ และทำให้คนไทยทุกคน ขึ้นเครื่องบินทุกครั้งอย่างมีรอยยิ้ม เพราะว่าเราเข้าใจว่าการบินเป็นอย่างไร” กัปตันโสภณกล่าวทิ้งท้าย

กิจกรรมทูตสะเต็มให้ความรู้ด้านการบิน

 

 

เด็กชายธีรภัทร ภัทราวงศ์ หรือ ห่งจ๋าย ชั้น ม.2/3 โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เล่าว่า สนใจเรื่องการบินมาตั้งแต่เด็ก เพราะพ่อเล่าให้ฟังบ่อยๆ กิจกรรมวันนี้ได้ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างต่าง ๆ ของเครื่องบิน ได้ทราบหลักการว่าเครื่องบินมีการขึ้นลงอย่างไร วันนี้ได้เจอกัปตันตัวเป็นๆ สุขใจมาก การทำกิจกรรมสะเต็มศึกษาช่วยเพิ่มเติมความรู้ให้แก่เรา มีกิจกรรมเสริมมากขึ้นให้มีความรู้มากกว่าเดิม เป็นแรงบันดาลใจให้เราตั้งใจเรียนด้านสะเต็มให้มากขึ้น เพราะได้ใช้ประโยชน์ อยากเป็นนักบินอนาคตตั้งใจจะไปสอบเป็นนักบินด้วย

เด็กหญิง ณัฐณิชา ไพพุจิตร หรือ ครีม ชั้น ม.2/3 โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กล่าวว่า วันนี้ได้รับความรู้เกี่ยวกับเครื่องบินเยอะ ทั้งการออกแบบ โครงสร้าง ความเกี่ยวข้องกับวิศวกรรมศาสตร์ อากาศ และสิ่งต่างๆ ดีใจมาก เพราะไม่เคยได้พูดคุยใกล้ชิดกับนักบินมาก่อน เรียนสะเต็มสนุกและได้รับความรู้ไปในตัว ใครที่เรียนในห้องอยากให้เรียนสนุกมากขึ้น สะเต็มอาจช่วยได้ ถ้ามีโอกาสก็อยากทำอาชีพด้านสะเต็ม

เด็กหญิงอริสา ตั้งไพบูลย์ หรือ เอิร์ธ ชั้น ม.2/3 โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) บอกว่า วันนี้ได้ความรู้เยอะ เพิ่งรู้ว่าสิ่งที่เรียนมาได้ใช้ประโยชน์จริง แค่เรื่องเครื่องบินก็ได้ใช้ประโยชน์ทุกอย่าง ได้รู้ว่าเครื่องบินนั้นต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์ในการคิดค้น บังคับยาก แค่จะสร้างเครื่องบินลำหนึ่งก็ต้องคิดหลายตลบ ความรู้ที่ได้ในวันนี้สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ต่อยอดได้หลายอย่าง เกี่ยวข้องกับวิชาที่เรียน ได้เจอนักบินวันนี้รู้สึกประทับใจ สะเต็มเหมือนเอาวิชาวิทยาศาสตร์มาผสมผสานกับวิชาอื่น ทำให้สนุกมากขึ้น เข้าใจเนื้อหามากขึ้น   ทำให้เราเห็นภาพมากขึ้น หนูเคยคิดไว้เล่น ๆ ว่าอยากเป็นวิศวกรอยู่แล้ว น่าจะได้ใช้ความรู้สะเต็มที่ได้เรียนมาในการศึกษาต่อแทบทั้งหมด

 

"ความสนใจหรือความประทับใจจะพาไปสู่การพยายามที่จะค้นคว้าและค้นหาหนทางเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เราสนใจ" เป็นคำกล่าวที่กัปตันโสภณได้กล่าวไว้ ซึ่งเด็กๆ เหล่านี้จะเป็นต้นกล้าพันธุ์ดีทางด้านสะเต็มที่จะเติบโตมาช่วยต่อยอดสู่การทำงานอาชีพที่มีศักยภาพให้แก่สังคมไทยเรา

 

ผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)

 

 

ดร.กล้าศักดิ์ จิตต์สงวน ผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กล่าวว่า “การบริหารจัดการการเรียนการสอนสะเต็มศึกษา โดยเฉพาะชมรมสะเต็ม และกิจกรรมทูตสะเต็มนั้นสอดรับกับนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารโรงเรียนต้องสนับสนุนการทำงานเชิงบูรณาการของครูในวิชาที่เกี่ยวข้องกับสะเต็มศึกษา ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ร่วมกัน สร้างเป็นชุมชนของการเรียนรู้ เพื่อช่วยกระตุ้นให้ครูปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน และตื่นตัวในการใช้สะเต็มศึกษา โดยหวังให้นักเรียนมีทักษะการคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ แก้ปัญหาในชีวิตจริงและสร้างนวัตกรรมที่ใช้สะเต็มเป็นพื้นฐาน เรียนรู้อย่างมีความสุข และมองเห็นเส้นทางการประกอบอาชีพในอนาคต รวมทั้งมีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีสูงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยมีกำลังคนด้านสะเต็มที่จะช่วยยกระดับรายได้ของชาติให้สูงกว่าระดับรายได้ปานกลางในอนาคต”

 

ทั้งนี้ ผู้สนใจร่วมสมัครเป็นทูตสะเต็มสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม พร้อมทั้งดาวน์โหลดแบบตอบรับการเป็นทูตสะเต็ม ได้จากเว็บไซต์ www.stemedthailand.org และโปรดส่งแบบตอบรับมายัง ศูนย์สะเต็มศึกษาแห่งชาติ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) 924 ถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร 10110 หรือทางอีเมล stemedthailand@gmail.com สมัครได้ตั้งแต่บัดนี้ และยังไม่มีกำหนดสิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร

 

คุณอยู่ที่: หน้าหลัก บทความประชาสัมพันธ์ ข่าวและกิจกรรม บทความประชาสัมพันธ์ สานฝันเยาวชน เปิดประตูสู่อาชีพด้านสะเต็มกับทูตสะเต็ม “กัปตันโสภณ พิฆเนศวร" นักบินผู้ใช้วิทยาศาสตร์นำทางในงานอาชีพ